วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2551

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551

ในหลวงกับเทคโนโลยี

...กังหันน้ำชัยพัฒนา...
กังหันน้ำชัยพัฒนา มีชื่อทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมว่า " เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ( Low speed surface Aerator ) "และมีชื่อในการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ใช้ภาษาอังกฤษว่า " Chaipattana Low Speed Surface Aerator, Model RX-2) " โดยทั่วไปเรามักเรียกว่า"กังหันน้ำชัยพัฒนา"อันเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชานไว้ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2531 ปัญหาเรื่องน้ำเสียมีประวัติความเป็นมาควบคู่ไปกับความเจริญเติบโตของชุมชน กล่าวคือ เมื่อครั้งประชากรยังน้อยและกระจัดกระจายก็ไม่เป็นปัญหาอะไรมากนัก ต่อมาเมื่อชุมชนเจริญเติบโตประชากรเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเรื่องน้ำเสียก็ติดตามมาเป็นเงาตามตัว ทั้งนี้ เพราะว่าน้ำเสียเป็นผลิตผลอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของคน และนับวันน้ำเสียจะมีปริมาณมากขึ้นเป็นทวีคูณ และมีสารใหม่ๆ แปลกๆ ของผลิตภัณฑ์สมัยใหม่เจือปนอยู่ด้วย ซึ่งจะทำให้น้ำเสียเป็นปัญหายุ่งยากมากขึ้นตามลำดับในอนาคตน้ำเสียนอกจากจะโสโครกมีกลิ่นเหม็นสีดำคล้ำ และอาจมีสารเคมีที่มีพิษเจือปนอยู่ด้วย เมื่อน้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ก็จะแปรสภาพแหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติให้กลายเป็นน้ำเสียไป ทำให้ไม่อาจใช้น้ำจากแหล่งน้ำแหล่งนั้นได้อีกต่อไป อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นตลบไปทั่วบริเวณ ทำให้อากาศหายใจไม่บริสุทธิ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างร้ายแรง สัตว์น้ำทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำหากไม่ตายก็ต้องต้องอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น ส่วนที่ทนอาศัยอยู่ต่อไปได้ย่อมจะมีรสชาติของเนื้อผิดแผกไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ในด้านอนามัยของประชาชนเท่านั้น หากยังกระทบกระเทือนถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะเหตุว่ากิจการที่ต้องใช้น้ำเป็นวัตถุดิบ เช่น การประปา และการอุตสาหกรรม ไม่อาจจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ได้ เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูง ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งชุมชนแออัดและที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแหล่งน้ำกำลังประสบปัญหาภาวะน้ำเน่าเสียเช่นนี้ ซึ่งยิ่งนับวันจะมีความรุนแรงเป็นทวีคูณ และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่อส่วนรวมและเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชน ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายๆ แห่ง หลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชดำริเรื่องการแก้ไขน้ำเน่าเสีย เริ่มด้วยการแก้ไขน้ำเสียรูปแบบง่าย ในช่วงแรกระหว่าง พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ.2530 โดยการใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสียบ้าง ใช้วิธีกรองน้ำด้วยผักตบชวาบ้าง ซึ่งก็จะได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ต่อมาตั้งแต่ พ.ส.2531 เป็นต้นมา สภาพความเน่าเสียของน้ำที่บริเวณต่างๆ มีความรุนแรงยิ่งขึ้น การแก้ไขน้ำเสียรูปแบบดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องนำเครื่องกลเติมอากาศเข้าช่วยบำบัดน้ำเสียอีกทางหนึ่งด้วยจึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบไทยทำไทยใช้ขึ้นมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือรัฐบาลเพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสียแบบใช้ค่าใช้จ่ายน้อย ไปตามที่ต่างๆ

...พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย... " (สุชาติเผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : 2530)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้นดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันทีในบางรายที่มีอาการป่วยหนักจำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็วหากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณ หรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วย ในท้องถิ่นห่างไกล ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกันจึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อยหรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีจึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปีแต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม ่แทน นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร ว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท,การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

...พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง...


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาเยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้นไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. 2495 อหิวาตกโรคในปีพ.ศ. 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. 2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.30-12.00 และ 16.00-19.00 วันอาทิตย์ เวลา 9.00-12.00หยุดทุกวันจันทร์

...พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม...


ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

...โครงการ E-Learning...

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2539เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และได้ร่วมกับกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาให้แก่ โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา และสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 3,000 โรงเรียนทั่วประเทศทางช่อง 11-16 (UBC) โดยกองทัพบก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นการพระราชทานการศึกษาไปสู่ปวงชน และกำลังดำเนินการขยายไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติตามลำดับ รวมทั้งการออกอากาศรายการภาคภาษาอังกฤษทางช่อง 17 (UBC) สำหรับบุคคลที่สนใจ ประเทศเพื่อนบ้าน และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถานเอกอัครราชทูต ซึ่งจะเริ่มออกอากาศในต้นปีพ.ศ.2545เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติิต่อเนื่อง สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านอินเตอร์เนตควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิฯ จะเป็นประโยชน์ต่อ การขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับประชาชนทั่วไป นักศึกษาผู้ใช้อินเตอร์เนต (internet)ในประเทศ และมิตรประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เป็นการประหยัดในการค้นคว้าข้อมูลจากรายการการศึกษาทางไกลของมูลนิธิฯ ประหยัดเวลาในการบันทึกเทป ประหยัดเทปและงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาเห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วังไกลกังวลมีความพร้อมและเหมาะสมกว่าที่อื่นในการเกื้อกูลระบบ e-Learning ให้ประสบผลสำเร็จได้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) บริษัท แอ๊ดว้านซ์วิชั่นซิสเท็มส์ จำกัด บริษัทเทเลแซท คอร์ปอเรชั่น จำกัดและบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมกันเฉลิมพระเกียรติ จัดทำระบบ e-Learning ให้แก่มูลนิธิฯ ในต้นปี พ.ศ.2545 นี้ เท่ากับว่า ผู้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ ์ทั้งในและต่างประเทศ สามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนการสอนจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยศึกษาผ่านอินเตอร์เนตได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องเนื้อหาวิชา (free-of-charge web-based information content) ทั้งในลักษณะ Live Broadcast และOn Demandซึ่งขณะนี้ได้เปิดทดลองให้บริการในลักษณะ Live Broadcast และจะเปิดให้บริการ ทั้ง 2 ระบบเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 18 มีนาคม 2545