วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ภูมิปัญญาท้องถิ่น


















1.เครื่องทองเหลือง
ผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลือง เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำทองเหลือง มาหลอมกันเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆหลายรูปแบบ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้สั่งสมและสืบทอดกันมายาวนาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงาม มีคุณค่า ควรแก่การเก็บรักษาไว้ หรือเป็นของฝากของที่ระลึก
บ้านเขาลอยเป็นชุมชนเล็กๆที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไท–ยวน (ลาวพรวน) ได้มาตั้งรกรากเป็นชุมชนอยู่ที่บ้านเขาลอย เมื่อสมัยสงครามระหว่างไทย-พม่า เมื่อสองร้อยปีมาแล้ว การทำเครื่องทองเหลืองขึ้นใช้เริ่มต้นด้วยการนำเศษทองเหลือง ทองแดง ดีบุก มาหลอมรวมกันเป็นลูกกระพรวนทองเหลือง (ลูกมะโห้) ใช้เป็นวัตถุคล้องคอสัตว์เลี้ยงเพื่อให้มีเสียงกังวานและได้ยินเสียงในระยะไกล เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหายจากฝูง ต่อมามีคนสนใจมากขึ้นจึงคิดประดิษฐ์เครื่องทองเหลืองเป็นรูปแบบต่างๆ เริ่มจากระฆังใบเล็กๆ (กระดิ่ง)โดยมีผู้สนใจนำไปแขวนชายคาอุโบสถ และเมื่อครั้งทหารต่างชาติเข้ามาเที่ยววัดพระแก้ว ได้เห็นกระดิ่งชายคาอุโบสถ จึงได้สอบถามแหล่งที่มา ทราบว่ามีการผลิตที่บ้านเขาลอย จึงได้สั่งซื้อไปเป็นที่ระลึกจำนวนมาก ทำให้ระฆังทองเหลืองบ้านเขาลอยเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมามีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำเป็นผลิตภัณฑ์รูปสัตว์ต่างๆ ระฆังขนาดใหญ่ ขันใส่บาตร ทัพพีตักข้าว ถาดอาหาร ฉิ่ง ฉาบ เครื่องประดับ ของชำร่วย อุปกรณ์ของใช้และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆตามแต่ผู้สั่งซื้อต้องการ และได้พัฒนาคุณภาพมาตรฐานและความสวยงามอยู่เสมอ ส่งผลให้ชาวบ้านมีงานทำมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและสามารถยึดเป็นอาชีพเสริมได้
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองของชาวบ้านเขาลอย เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการนำวัสดุเศษทองเหลือง ทองแดง ดีบุกมาผสมรวมกันเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีรูปแบบเฉพาะ แปลกตา สวยงาม โดยเฉพาะกระดิ่งจะมีเสียงกังวานไพเราะใช้ประโยชน์ได้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในการเก็บรักษา เป็นของฝากที่ระลึก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แล้ว
สถานที่จำหน่าย กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลือง 39 หมู่ที่ 7 ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โทร. 0-3232-7559



ประวัติความเป็นมา
ชาวบ้านเขาลอย เดิมทีเป็นชาวไท-ยวน (ลาวพรวน) ที่ได้อพยพหนีภัยสงครามระหว่างไทยกับพม่า มาตั้งรกรากเป็นชุมชนอยู่ที่บ้านเขาลอย (ประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว) แรกเริ่มจะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเลี้ยงวัวเป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดเหตุอุทกภัยในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงซึ่งสมัยก่อนจะเป็นป่าไม้จำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาวัวหลงฝูงและเกิดสูญหาย ซึ่งมีชายคนหนึ่งชื่อลุงแก้ว เป็นเจ้าของวัวฝูงหนึ่งคิดทำเกราะไม้ไผ่ใส่คอวัวเพื่อให้ได้ยินเสียง เมื่อวัวเดินไปในที่ต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก เนื่องจากเสียงดังไม่ไกลและไม่ทนทาน จึงได้คิดทำเป็นลูกกระพรวนทองเหลือง ชาวบ้านเรียกลูกมะโห้ มีเสียงดังกังวาน ได้ยินเสียงเป็นระยะทางไกลๆ ซึ่งปัญหาวัวหายก็หมดไปจึงเกิดการทำลูกกระพรวนทองเหลืองอย่างแพร่หลาย เมื่อคนนอกชุมชนมาเห็นก็พากันสั่งซื้อ จึงได้มีการคิดประดิษฐ์เครื่องทองเหลืองเป็นรูปแบบอื่นๆ นอกจากลูกกระพรวนคล้องคอวัว โดยเริ่มจากระฆังลูกเล็กๆ ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงมีคนมาสั่งทำเป็นจำนวนมาก ทำให้ระฆังทองเหลืองบ้านเขาลอยเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป โดยเฉพาะเจ้าของร้านค้าในกรุงเทพฯ จะมาสั่งซื้อครั้งละเป็นจำนวนมากๆ ชาวบ้านเขาลอยจึงรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มอาชีพผู้ผลิตเครื่องทองเหลืองขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2514 ซึ่งในช่วงนี้จะทำผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองทั้งหมู่บ้าน แต่ต่อมาเมื่อที่ดินราคาสูง ชาวบ้านได้ขายที่ดินมีฐานะดีขึ้นจึงได้เลิกทำทองเหลืองไปบางส่วน ปัจจุบันเหลือทำอยู่ประมาณ 10 กว่าหลังคาเรือน

วิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
จากจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาวัวหาย โดยการทำกระพรวนผูกคอวัว จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองหลากหลายรูปแบบที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนบ้านเขาลอย นับเป็นภูมิปัญญาที่ผ่านการคิดค้นของชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต จนกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคงลุงเล็ก (ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มอาชีพทำทองเหลืองบ้านเขาลอย) เล่าให้ฟังว่า “เดิมทีลุงแก้ว คิดทำเป็นคนแรก โดยมีลุงโพธิ์ ลุงมี เป็นคนช่วยทำเป็นลูกมะโห้ (ลูกกระพรวนทองเหลือง)โดยการนำเศษทองเหลือง ทองแดง ดีบุก มาหลอม ต่อมาคนนอกหมู่บ้านมาพบและ เห็นว่ามีประโยชน์จึงมีการสั่งซื้อ สั่งทำ เริ่มมีการแพร่หลายออกนอกชุมชน จึงได้มีการคิดรูปแบบให้หลากหลายขึ้น เริ่มต้นที่รูประฆังใบเล็กๆ (เรียกกระดิ่ง) ซึ่งมาสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปแขวนชายคาพระอุโบสถ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ จึงได้มีการทำทองเหลืองทุกหลังคาเรือน”
ในปี 2518 ที่มีการตั้งฐานทัพเรือที่อู่ตะเภา ทหารจากกองทัพสหรัฐฯ เห็นกระดิ่งแขวนตามวัดต่างๆ จึงได้มีการสอบถามที่มาและเมื่อทราบก็มีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำกลับไปยังสหรัฐฯ ไปเป็นของที่ระลึก ต่อมามีการทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ระฆังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขันใส่บาตร ทัพพีตักข้าว หลากหลายอุปกรณ์ของใช้ที่ทำจากทองเหลืองและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ (ตามแต่ผู้สั่งซื้อต้องการ) ที่นับเป็นเอกลักษณ์เครื่องทองเหลืองบ้านเขาลอย คือ ระฆังใบเล็กๆ หรือที่เรียก กระดิ่ง ที่ใช้แขวนตามหลังคาโบสถ์ วัดวาอารามต่างๆ โดยเฉพาะที่ทำให้มีชื่อเสียงมาก คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวโบสถ์วัดพระแก้วและได้ยินเสียงกระดิ่งที่แขวนชายคาโบสถ์ได้ไต่ถามถึงที่มา จึงได้รู้ว่าทำที่บ้านเขาลอย ต.ดอนตะโก จ.ราชบุรี จึงได้มีการสั่งทำเพื่อนำกลับไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ประเทศที่สั่งซื้อได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ แคนาดา อินโดนีเซีย จีน เป็นต้น
วัตถุดิบ กระบวนการผลิต
วัตถุดิบหลักๆ คือ ทองเหลือง ซึ่งจะซื้อมาจาก กรุงเทพมหานคร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีบ้างและอาจมีดีบุก ทองแดง มาผสมในงานบางชิ้น (แต่เดิมใช้เศษทองเหลืองที่เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่างๆ มาหลอมทำ) ซึ่งก่อนจะหลอมเป็นรูปแบบต่างๆ จะต้องมีการทำแม่พิมพ์ขึ้นมา โดยใช้ดินที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาผสมกับมูลวัว กับน้ำ และแกลบแล้วทำเป็นหุ่นดิน ตากให้แห้งนำมากลึงโดยใช้พะบอน (เป็นเครื่องกลึงที่คิดค้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการสาวเชือกผ่านแกนไม้ที่เสียบอยู่กับหุ่นดิน แล้วมีคนใช้เหล็กปลายแหลมกลึง) เป็นรูประฆังอย่างสวยงาม ปัจจุบันจะใช้ปูนปลาสเตอร์ทำเป็นแม่พิมพ์เพื่อความสะดวก รวดเร็วและทำได้เป็นจำนวนมากๆ หลายรูปแบบ การกลึงเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ช่วย การขัดให้สวยงามเรียบร้อย จากเดิมใช้ตะไบก็หันมาใช้มอเตอร์ช่วย
ประโยชน์ ที่ชัดเจนคือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตซึ่งปัจจุบันถือเป็นรายได้หลัก (แต่เดิมรายได้หลักจะมาจากการทำไร่ ทำนา) เพราะจะมีการสั่งทำ สั่งซื้อจากภายนอกชุมชน ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยการรับใบสั่งซื้อจะรับในนามกลุ่ม แล้วกลุ่มจะไปบริหารการผลิตโดยแจกจ่ายให้แก่สมาชิกตามความชำนาญในการผลิตแต่ละประเภท/แบบ
ประโยชน์ต่อมาก็คือสร้างชื่อเสียงให้แก่บ้านเขาลอย เป็นชุมชนในการผลิตเครื่องทองเหลืองและที่สำคัญ คือ ได้สืบทอดมรดกฝีมือการทำทองเหลืองต่อจากบรรพบุรุษสู่อนุชนรุ่นหลัง
รูปแบบหรือประเภทผลิตภัณฑ์
ที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างชื่อเสียง คือ ระฆังใบเล็กหรือที่เรียกกระดิ่ง และยังมีรูปสัตว์ต่างๆ ฉิ่ง ฉาบ เครื่องประดับ ของชำร่วย ของใช้ ขันตักบาตร ถาดใส่อาหาร ฯลฯ แล้วแต่ผู้สั่งซื้อต้องการ อาจนำรูปแบบต่างๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ทางกลุ่มผลิตตามแบบ
คุณภาพมาตรฐาน
ส่วนมากจะชอบความเรียบร้อย สวยงาม โดยเฉพาะกระดิ่ง ที่มีความสวยงาม ดังกังวาน ไพเราะ แต่จะมีบางรายโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เช่น แคนาดา จะชอบผลิตภัณฑ์ทองเหลืองที่ออกจากเตาเผาที่ยังไม่ได้ตกแต่งซึ่งจะดูแปลกตา เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ เพราะถือเป็นฝีมือการผลิตเดิมๆ ที่มิได้มีการตกแต่ง

2.การปั้นโอ่ง
การปั้นโอ่งมังกรและเครื่องปั้นดินเผาของชาวราชบุรี เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน ที่มีชื่อเสียงมาก คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็ชื่นชอบขั้นตอนในการผลิตโอ่งการผลิตโอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรีนี้มีกรรมวิธีการผลิตอยู่ด้วยกัน ๕ ขั้นตอนดังต่อไปนี้










๑. การเตรียมดิน
การเตรียมดิน ดินที่ราชบุรีที่มีชื่อเสียงนั้น อยู่ที่ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง โดยดินที่นำมาใช้ในการปั้นโอ่ง คือ ดินเหนียว เมื่อได้ดินมาแล้ว ในขั้นตอนแรกจะต้อง มีการหมักดินเสียก่อน ประมาณ ๒-๓ วัน เมื่อดินอ่อนตัวดีแล้ว จึงนำดินจากบ่อหมักดินขึ้นมาพักไว้ เพื่อรอเข้าเครื่องนวด จากนั้นจึงนำดินมาเข้าเครื่องนวด โดยต้องมีการผสมทรายละเอียดลงไปด้วยเพื่อไม่ให้ดินที่จะใช้ปั้นโอ่งอ่อนตัวจนเกินไปเครื่องนวดดินจะทำการนวด และคลุกเคล้าดินเหนียวกับทรายเข้าด้วยกัน จนดูเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งดินเหนียวที่ได้ในขั้นตอนนี้ จะมีลักษณะพอเหมาะ ไม่เหลวหรือแข็งจนเกินไปเมื่อดินที่ผสมออกมาจากเครื่องเรียบร้อยแล้ว ช่างจะต้องทำการตัดแบ่งดินเป็นก้อนๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปปั้นเสียก่อน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกกันว่าเหล็กตัด เหล็กตัดจะมีลักษณะเป็นเหล็กเส้นกลม นำมาโค้งเป็นรูปตัวยู ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคันเลื่อยฉลุ แต่มีขนาดใหญ่และกว้างกว่า ที่ปลายของเหล็กจะขึงลวดไว้จนตึง ซึ่งเวลาตัดดินจะนำเส้นลวดนี้ไปตัดแบ่งดินจากกองใหญ่ ให้เป็นกองที่มีขนาดเหมาะสมในการปั้นจากนั้นช่างจะนำดินที่ตัดแล้วมาคลึงบนพื้น ซึ่งดินที่คลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีลักษณะคล้ายกับบาตรพระ นอกจากนี้จะมีการโรยทรายละเอียดลงบนพื้นที่คลึงดินด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการคลึงและไม่ทำให้ดินติดพื้น เมื่อช่างคลึงดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำดินที่คลึงแล้วไปพักไว้ เพื่อรอการขึ้นรูปโอ่งต่อไป
๒. การขึ้นรูป
เครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นมากในการขึ้นรูป ก็คือ แป้นหมุน แป้นหมุนเป็นไม้กลมๆ มีแกนตรงกลางหมุนได้รอบตัว มีทั้งแบบหมุนด้วยมือ ใช้เท้าถีบ หรือจะเป็นแบบหมุนด้วยเครื่องจักรไฟฟ้าก็ได้ ในการขึ้นรูป นอกจากช่างปั้นแล้ว จะต้องมีผู้ช่วย ซึ่งก็คือ คนเตรียมดินนั่นเอง คนเตรียมดินจะเป็นผู้ยกดินที่ใช้ขึ้นตัวโอ่งวางบนแป้นหมุน จากนั้นช่างปั้นก็จะเปิดเครื่องจักร เพื่อให้แป้นหมุน ช่างก็จะใช้มือทั้งสองข้างประคองดินให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ เมื่อได้ขนาดและรูปร่างของโอ่งตามที่ต้องการแล้ว ก็จะบังคับให้แป้นหยุดหมุน จากนั้นจึงยกโอ่งลงจากแป้นหมุนโดยการใช้เส้นตัดก้นโอ่งที่อยู่ติดกับแป้นหมุนเสียก่อน หากโอ่งมีขนาดเล็ก ช่างปั้นอาจจะยกลงจากแป้นหมุนเอง แต่หากโอ่งมีขนาดใหญ่ ช่างปั้นอาจจะช่วยกับคนเตรียมดินในการยกโอ่งลงจากแป้นหมุนก็ได้ โอ่งที่ยกลงจากแป้นหมุนเรียบร้อยแล้ว จะยังมีความาอ่อนตัวอยู่ ดังนั้นรูปร่างของโอ่งอาจบิดเบี้ยว ทำให้โอ่งเสียรูปทรงได้ ผู้ช่วยช่างปั้นโอ่ง จึงต้องใช้ห่วงไม้สองห่วงมาช่วยบังคับรูปทรงโอ่งไว้ ห่วงไม้ที่ใช้บังคับรูปโอ่งนี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย แต่ในภาษาจีน เรียกว่า "โคว" แปลว่า ห่วงนั่นเอง สำหรับโอ่งที่ปั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วนี้ จะมีเฉพาะตัวโอ่งและโอ่งเท่านั้น ยังไม่มีปากโอ่ง เมื่อยกโอ่งลงจากแป้นหมุนแล้ว ก็จะนำโอ่งไปผึ่งลมไว้ที่ลาน รอให้โอ่งหมาด เพื่อเตรียมที่จะขึ้นปากโอ่งต่อไป ซึ่งในการขึ้นปากโอ่งจะต้องรอการขึ้นรูปโอ่ง ให้โอ่งมีจำนวนมากพอกับที่ต้องการเสียก่อน จากนั้นจึงนำโอ่งทั้งหมดไปขึ้นปากโอ่งทีเดียวการขึ้นปากโอ่งจะนำตัวโอ่งยกวางลงบนแป้นหมุนอีกครั้งหนึ่ง แต่แป้นหมุนที่ใช้ในการขึ้นปากโอ่งนี้ เป็นแป้นหมุนที่ใช้มือบังคับ และใช้แรงคนหมุน ช่างขึ้นปากโอ่งจะใช้ดินที่คนเตรียมดินทำเป็นเส้นไว้แล้ว มาวางวนรอบคอโอ่ง แล้วใช้มือหมุนหรือใช้เท้าถีบแป้นหมุนก็ได้ มือทั้งสองข้างก็คอยบีบดินให้ติดกันกับคอโอ่ง และคอยแต่งให้เป็นปากโอ่ง พอแต่งปากโอ่งจนเกือบจะได้ท ี่ช่างก็จะใช้ฟองน้ำชุบน้ำพอหมาดๆ ปาดวนไปรอบปากโอ่งอีกครั้งหนึ่ง เป็นการช่วยให้ปากโอ่งเรียบ จากนั้นก็ยกโอ่งไปผึ่งลมไว้ที่ลานโอ่งจะมีหลายแบบด้วยกัน การปั้นโอ่งบางประเภทเมื่อติดปากโอ่งเรียบร้อยแล้ว ก็รอเขียนลายได้เลย เช่น โอ่งเจ็ด แต่โอ่งบางประเภทต้องมีการติดหูโอ่งด้วย เช่น โอ่งพม่าหรือโอ่งมอญ เป็นต้น โดยการติดหูโอ่งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับการติดปากโอ่ง
๓. การเขียนลาย
ก่อนการเขียนลายจะต้องมีการแต่งผิวโอ่งให้เรียบ และแต่งรูปทรงของโอ่งให้ดีเสียก่อน โดยใช้ “ไม้ตี” และ “ฮวยหลุบ” ฮวยหลุบเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งทำด้วยดินเผา มีลักษณะเหมือนลูกประคบ มีลักษณะกลมมน มีที่จับอยู่กลางลูก ใช้เพื่อรักษารูปทรงของโอ่ง เวลาตีโอ่งคนตีจะใช้ฮวยหลุบรองผิวโอ่งด้านใน ส่วนด้านนอกของโอ่งก็ใช้ไม้ตีตีโอ่ง เมื่อแต่งผิวโอ่งจนทั่วทั้งใบแล้ว จึงนำไปเขียนลายต่อไป ช่างเขียนลายส่วนใหญ่มักจะเป็นหญิง อาจะเป็นเพราะต้องอาศัยความใจเย็นและความประณีต ส่วนสิ่งที่จะนำมาใช้ในการเขียนลายโอ่งนั้น เป็นดินเหนียวนำมาผสมกับดินขาวที่ร่อนพิเศษให้มีเนื้อที่ละเอียดมาก จากนั้นนำดินที่ผสมกันนี้มานวดจนนิ่ม ดินนี้เรียกว่า “ดินติดดอก” เมื่อจะเริ่มเขียนลาย ช่างก็จะนำโอ่งที่แต่งผิวเรียบร้อยแล้วมาวางบนแป้นหมุนที่หมุนด้วยมือ แล้วจึงใช้ดินติดดอกปั้นเป็นเส้นเล็กๆ ป้ายติดไปที่โอ่งสามตอนเพื่อแบ่งโอ่งออกเป็นสามช่วง คือ ช่วงปากโอ่ง ตัวโอ่ง และเชิงล่างของโอ่ง เนื่องจากแต่ละช่วงจะติดลายไม่เหมือนกันช่วงปากโอ่งจะนิยมติดลายดอกไม้หรือลายเครือเถา เพื่อความสะดวก รวดเร็วและความเป็นระเบียบสวยงาม ช่วงตัวโอ่งนิยมเขียนเป็นรูปมังกร บางครั้งก็เป็นตัวมังกรแบนๆ แต่บางครั้งส่วนที่เป็นหัวมังกร จะปั้นนูนออกมาทำให้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ส่วนช่วงเขิงด้านล่างของโอ่ง ช่างจะติดลายแบบเดียวกันกับช่วงปากโอ่ง แต่จะเป็นแบบง่ายๆ นอกจากใช้มือในการวาดลายอย่างชำนาญแล้ว ช่างเขียนลายยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การวาดลายเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผลงานที่ออกมาสวยงามมากขึ้นอีกด้วย เช่น การใช้แผ่นเหล็กที่ดัดเป็นรูปคลื่นช่วยในการทำลายมังกร การใช้หวีช่วยในการทำครีบมังกร เป็นต้น แต่ในบางครั้งลูกค้าก็สั่งโอ่งแบบที่ไม่มีลวดลาย ซึ่งก็ไม่ต้องเขียนลวดลายลงบนโอ่ง นอกจากจะใช้ดินติดดอกปั้นแต่งแล้ว ยังสามารถเขียนลายโอ่ง โดยใช้พู่กันจีนจุ่มน้ำเคลือบเขียนลายโอ่งได้อีกด้วย การเขียนลายโอ่งแต่ละใบนั้น จะใช้เวลาในการเขียนลายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลายของโอ่งและขนาดของโอ่ง

๔. การเคลือบ
สำหรับน้ำที่ใช้ในการเคลือบโอ่งก็คือ น้ำโคลนผสมกับขี้เถ้า ซึ่งจะใช้เถ้าจากอะไรก็ได้ ในโรงงานทั่วไปมักจะใช้เถ้าที่ได้จากการเผาโอ่งนั่นเอง แต่หากเป็นขี้เถ้าที่ได้จากกระดูกสัตว์ เมื่อนำมาผสมเป็นน้ำเคลือบแล้ว นำไปเผาจะได้โอ่งที่ลวดลายสัสันสดใสกว่าน้ำเคลือบจากขี้เถ้าที่ได้จากพืช แต่ก่อนที่จะนำขี้เถ้าไปผสมกันกับน้ำโคลนจะต้องนำขี้เถ้าไปร่อนจนละเอียดเสียก่อน และเมื่อผสมออกมาเรียบร้อยแล้ว จะทำให้ได้น้ำเคลือบที่ละเอียดในการเคลือบโอ่ง จะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะใบบัว ใช้น้ำเคลือบราดให้ทั่วด้านในโอ่งก่อน จากนั้นยกโอ่งคว่ำลงในกระทะนั้น ตักน้ำเคลือบมาราดรดผิวนอกจนทั่ว จึงยกขึ้นแล้วนำไปวางหงายผึ่งลมไว้ ในกระทะใบบัวจะมีน้ำเคลือบอยู่ ช่างก็จะนำน้ำเคลือบที่เหลืออยู่นี้ผสมรวมกับน้ำเคลือบที่เตรียมไว้ตั้งแต่ต้น แล้วนำโอ่งใบใหม่มาใส่กระทะแล้วก็ทำการเคลือบ ตามวิธีข้างต้นต่อไปเรื่อยๆ แต่การเคลือบโอ่งนี้เราจะเคลือบเฉพาะโอ่งที่ติดลายเท่านั้น โอ่งที่เคลือบแล้วจะทำให้เกิดสีสวยเป็นมัน เมื่อเผาเสร็จออกมา นอกจากนี้น้ำเคลือบยังช่วยสมานรอยแผลและรูระหว่างเนื้อดิน ทำให้น้ำไม่ซึมออกจากโอ่งเมื่อนำไปใช้อีกด้วย เมื่อเคลือบเสร็จแล้วช่างก็จะขนโอ่งทั้งหมดไปที่เตาเผาโอ่ง เพื่อทำการเผาโอ่งต่อไป
๔. การเผา
เป็นกรรมวิธีขั้นสุดท้ายของการทำโอ่ง เตาเผาฌอ่งจะเป็นเตาที่ก่อด้วยอิฐเป็นรูปยาว เรียกว่า “เตาอุโมงค์” ด้านข้างเตาด้านหนึ่งจะเจาะเป็นช่องประตู เพื่อใช้เป็นทางนำโอ่งหรือภาชนะดินเผาอื่นๆ เข้าไปเผา และเป็นทางขนโอ่ง หรือภาชนะดินเผาอื่นๆ ที่เผาเสร็จแล้วออกจากเตา ส่วนด้านข้างเตาอีกด้านหนึ่งจะก่ออิฐเรียบไปตลอด ด้านบนของเตาจะเจาะรูไว้เป็นระยะๆ เพื่อใช้ใส่ฟืนเป็นเชื้อในการเผา รูที่เจาะไว้นี้เรียกว่า “ตา” หรือ “ตาไฟ” จะมีตาอยู่รอบเตาทั้งสองด้าน เตาหนึ่งๆ นั้นจะมีช่องประตูและตามากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเตา เช่น เตาที่มี ๔ ช่อง ประตูก็จะทำตาไว้รอบเตา ๗๐ ตา ปลายด้านหนึ่งของเตาอุโมงค์จะใช้เป็นเตาสำหรับก่อไฟ ส่วนปลายอีกด้านก็จะเป็นก้นเตา ใช้เป็นปล่องสำหรับระบายควันออกจากเตา เมื่อจะเผาโอ่งนั้น จะต้องเปิดประตู นำโอ่งที่จะเผาเรียงเข้าในเตา เผาให้เต็มจากนั้นปิดประตูด้วยอิฐชนิดเดียวกับที่ใช้ก่อเตา ใส่เชื้อไฟตามตาที่อยู่รอบๆ เตาจนเต็ม แล้วจึงก่อไฟทีปากเตาอากาศร้อนจะวิ่งจากปากเตาไปสู่ก้นเตาซึ่งเย็นกว่า อากาศร้อนก็จะลอยออกไปทางก้นเตา จึงทำให้เกิดแรงดูดขึ้นภายในเตา ความร้อนจากปากเตาก็จะวิ่งเข้ามาในเตา เมื่อพบกับเชื้อที่ใส่เอาไว้ก็เกิดการลุกไหม้ทั่วทั้งเตา การเผานี้จะปล่อยไว้ให้ลุกไหม้ติดต่อกันนาน ๒ วัน เมื่อถึงวันที่สามไม่ต้องเติมเชื้อไฟอีก ไฟก็จะค่อยๆ มอด ปล่อยทิ้งไว้ ๑๐ ถึง ๑๒ ชั่วโมง ความร้อนในเตาก็เกือบหมดไป จึงเปิดช่องประตูเตา นำโอ่งและภาชนะที่เผาออกมา คัดแยกโอ่งและภาชนะที่สมบูรณ์ทุกอย่างไว้ คือ จะมีความมันวาวมีสีน้ำตาลแก่อมเขียวและมีลวดลายสุกปลั่ง จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายได้ ส่วนโอ่งและภาชนะที่ชำรุด เช่น มีสีด้านทึบ ลวดลายไม่เด่นชัด จะมีการตรวจสอบสภาพและแยกไว้เป็นระดับ แต่หากโอ่งมีความเสียหายมากต้องนำไปทุบทำลาย แต่อาจนำไปใช้ประโยชน์ คือ ถมที่ได้ เส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองราชบุรีนั้น มีโรงงานปั้นโอ่งมังกรอยู่หลายแห่ง เฉพาะในตัวเมืองราชบุรี ก็มีโรงงาน สถานที่ผลิตและจำหน่ายมากถึงประมาณ ๔๐ แห่งเลยทีเดียว ซึ่งโรงงานผลิตโอ่งที่มีชื่อเสียงและน่าสนใจมีดังต่อไปนี้โรงงานรัตนโกสินทร์ 1 อยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นโรงานใหญ่มีการผลิตและจัดจำหน่ายเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านครบวงจร โรงงานราชาเซรามิค ตั้งอยู่ที่ถนนทรงพล อำเภอบ้านโป่ง โรงงานเยี่ยมศิลป์ ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม อำเภอเมือง โรงงานสยามราชเครื่องเคลือบ ตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม อำเภอเมือง โรงงานรัตนโกสินทร์๒ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงานรัตนโกสินทร์๑ เนื่องจากเป็นโรงงานสาขาที่สองของโรงงานรัตนโกสินทร์๑ โรงงานเถ้าฮงไถ่ ตั้งอยู่ที่ถนนนเจดีย์หัก - - - - -- -- - - - - - - - - - - - - -- -- - -ขอขอบคุณ : กรมประชาสัมพันธ์ เอื้อเฟื้อข้อมูลที่มา : http://www.prd.go.th//

การทอผ้าซิ่นตีนจก
ความหมายของคำว่า ผ้าซิ่นตีนจก ซิ่น หมายถึง ผ้าที่ทอเป็นถุง ตีน หมายถึงโครงสร้างส่วนล่างที่ประกอบเป็นผ้าถุง ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น(ส่วนบน) ตัวซิ่น(ส่วนกลาง) ตีนซิ่น(ส่วนล่าง) จก ตามภาษาพื้นบ้าน แปลว่า ควักหรือล้วงด้วยมือ เป็นเทคนิคการทำลายบนผืนผ้าเป็นช่วงๆ ทำใสห้สามารถสลับสีสันลวดลายได้หลากหลายสี เมื่อนำความหมายมารวมกันคำว่า ผ้าซิ่นตีนจก จึงหมายถึง การทำลวดลายที่มีสีสันงดงามบนผืนผ้าอาจจะใช่ฝ้ายหรือไหมแล้วนำมาประกอบหรือต่อตรงส่วนล่างของผ้าซิ่น เมื่อรวมกันเป็นผืนจึงเรียกว่า ซิ่นตีนจก













ซิ่นตีนจกนี้ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เนื่องจากสตรีในอดีตของอาณาจักรล้านนานิยมที่จะสอนลูกหลานให้รู้จักทอผ้าตีนจกไว้ใช้ เพื่อที่จะแสดงถึงความเป็นกุลสตรีและความเป็นแม่บ้านแม่เรือนในปัจจุบันซฺนตีนจกยังได้รับความนิยมในการสวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ และชาวไทย-ยวน จังหวัดสระบุรีและราชบุรีบางส่วน นอกจากจะทอผ้าไว้ใช้เองแล้วยังสามารถทอเป็นสินค้าหัตถกรรมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย






ไม่มีความคิดเห็น: